ซิงค์เป็นสารอาหารชนิดหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนการเจริญเติบโตของเด็ก และสนับสนุนระบบภูมิต้านทาน หากร่างกายมีซิงค์ที่อยู่ในต่ำจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรค และความเจ็บป่วย ซิงค์ช่วยสนับสนุนการทำหน้าที่หลายอย่างภายในร่างกายมนุษย์ และสนับสนุนระบบภูมิต้านทานด้วยเช่นกัน ซิงค์ช่วยร่างกายสร้างโปรตีน และ DNA ช่วยสมานแผล และมีบทบาทต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็ก นอกจากนั้น ซิงค์ยังมีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
ซิงค์เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติโดยมีอยู่ภายในอาหารหลายชนิด เช่น ถั่ว เนื้อสัตว์ และเนื้อปลา นอกจากนั้น ยังมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์จำหน่ายอยู่ในท้องตลาดอีกด้วย บทความนี้จะกล่าวถึงคุณประโยชน์ต่าง ๆ ของซิงค์ รวมถึงผลที่จะเกิดขึ้นหากภายในร่ากายมีซิงค์ไม่เพียงพอ และแหล่งของซิงค์ที่เป็นประโยชน์
คุณประโยชน์ 11 ประการของซิงค์
ประโยชน์ที่สำคัญของซิงค์ต่อการทำหน้าที่ภายในร่างกาย ได้แก่
1. สนับสนุนการทำหน้าที่ของระบบภูมิต้านทาน: ร่างกายต้องการซิงค์เพื่อให้ระบบภูมิต้านทานทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม หากร่างกายมีซิงค์อยู่ในระดับต่ำ ก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น โรคปอดอักเสบ
2. รักษาอาการท้องเสีย: องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เสริมซิงค์แก่ทารกที่มีอาการท้องเสีย มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ซิงค์ช่วยร่นระยะเวลาของการเกิดท้องเสียให้สั้นลง โดยเฉพาะในผู้ที่รับประทานอาหารที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ
3. ช่วยสมานแผล: ซิงค์มีบทบาทช่วยเสริมสร้างสุขภาพผิว ผู้ที่มีแผลเรื้อรัง หรือมีแผลพุพอง บ่อยครั้งมักเกิดจากภายในร่างกายมีซิงค์อยู่ในระดับต่ำ ผู้ที่เป็นแผลแล้วหายยาก แพทย์ก็อาจแนะนำให้รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์ มีผลงานวิจัยในปี 2018 ที่ระบุว่า ซิงค์มีบทบาทสำคัญมากต่อการสมานแผลในทุกช่วง ตั้งแต่การซ่อมแซมผิว ไปจนถึงการป้องกันการติดเชื้อ ผู้เขียนงานวิจัยได้เรียกร้องให้มีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ชี้ชัดว่า ซิงค์ช่วยสมานแผลได้อย่างไร ซึ่งความรู้ดังกล่าวอาจนำไปสู่การรักษาแผลที่หายยากด้วยวิธีใหม่
4. ประโยชน์ที่มีต่อโรคเรื้อรัง: ซิงค์มีสรรพคุณต้านอนุมูลอิสระ ด้วยเหตุนั้น ซิงค์จึงช่วยลดภาวะตึงเครียดจากการเกิดอนุมูลอิสระ (oxidative stress) ได้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ภาวะตึงเครียดดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และลักษณะอื่น ๆ ของภาวะการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ (metabolic syndrome) มีผลงานวิจัยในปี 2018 ที่แนะนำว่า ซิงค์อาจช่วยป้องกันภาวะการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติได้ ผู้เขียนงานวิจัยได้แนะนำให้ทำการศึกษาต่อไปอีกเพื่อค้นหาว่า ซิงค์มีผลต่อสุขภาพอย่างไร และการนำผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์มาใช้ในการบำบัดรักษาจะมีประโยชน์หรือไม่
5. ประโยชน์ที่มีต่อโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ: จากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH หรือ National Institute of Health) ได้ระบุว่า ซิงค์ช่วยป้องกันการเกิดความเสียหายของเซลล์ในเรตินา และช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อมในผู้สูงอายุ และการสูญเสียการมองเห็นให้ดำเนินไปอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม ซิงค์ไม่ได้ช่วยป้องกันการเกิดจอประสาทตาเสื่อม มีผลงานวิจัยในปี 2020 ที่ผู้เขียนงานวิจัยได้พบว่า การขาดซิงค์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ และได้เรียกร้องให้มีการศึกษาต่อไปอีก พร้อมกับแนะนำว่า ซิงค์อาจทำให้เกิดวิธีรักษาแบบใหม่ได้ โดยรวมแล้ว มีผลการศึกษาบางชิ้นที่แนะนำว่า การรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์อาจช่วยได้ แต่หลักฐานที่มีอยู่ก็ยังไม่อาจทำให้เกิดข้อสรุปได้
6. ประโยชน์ที่มีต่อสุขภาพทางเพศ: ซิงค์ที่มีอยู่ในระดับต่ำอาจนำไปสู่พัฒนาการทางเพศที่ล่าช้า ปัญหาการเจริญพันธ์ และปัญหาสุขภาพทางเพศอื่น ๆ ในเพศชาย มีผลงานวิจัยเมื่อปี 2018 ที่ผู้เขียนงานวิจัยได้อธิบายว่า ซิงค์มีความสำคัญต่อสุขภาพทางเพศในผู้ชายมาก เนื่องจาก ซิงค์มีบทบาทในฐานะสารสร้างความสมดุลของฮอร์โมน และสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะขาดซิงค์อาจส่งผลร้าย แต่การมีซิงค์ในระดับที่สูงเกินไปก็อาจเป็นพิษได้เช่นกัน เนื่องจากซิงค์อาจก่ออันตรายต่อสเปิร์ม ดังนั้น ผู้ที่กำลังคิดว่าจะรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์เพื่อเสริมสร้างสุขภาพทางเพศ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน
7. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง: มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่า ซิงค์อาจช่วยรักษาโรคผิวหนังบางอย่างได้ เนื่องจากซิงค์มีบทบาทช่วยการสมานแผล จากผลงานวิจัย ได้ชี้ให้เห็นว่า ซิงค์อาจช่วยรักษาโรค หรืออาการต่อไปนี้ได้
• สิว (acne vulgaris)
• การอักเสบของต่อมเหงื่อ (hidradenitis suppurativa)
• โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (atopic dermatitis)
• ผื่นผ้าอ้อม (diaper dermatitis)
8. ประโยชน์ที่มีต่อโรคกระดูกพรุน: มีผลงานวิจัยในปี 2020 ที่ได้พบว่า ซิงค์มีบทบาทสำคัญมากต่อการเสริมสร้างกระดูก และสุขภาพ และอาจช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์จะสามารถป้องกัน หรือใช้รักษาโรคกระดูกพรุนได้หรือไม่ และยังจำเป็นต้องมีการวิจัยต่อไปอีกในเรื่องนี้
9. ประโยชน์ที่มีต่ออาการทางระบบประสาท: มีผลการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กเมื่อปี 2020 ที่มีข้อสรุปว่า การมีซิงค์ในระดับต่ำกับอาการทางระบบประสาทหลายอย่างมีความเชื่อมโยงกัน โดยนักวิจัยได้ศึกษาคนจำนวน 63 คนที่มีอาการปวดหัว เป็นเหน็บ และปลายประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับซิงค์ไม่เพียงพอและขาดวิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ด้วย ซึ่งหลังจากได้มีการให้รับประทานสารอาหารที่ขาดเหล่านั้นแล้ว ผู้เข้าร่วมในการวิจัยได้รายงานว่า อาการทางระบบประสาทต่าง ๆ ของพวกเขาดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิจัยได้ยอมรับว่า ยังจำเป็นต้องมีการทำวิจัยต่อไปอีก
10. ประโยชน์ที่มีต่อโรคหวัดทั่วไป: มีบทวิเคราะห์ถึงการศึกษาหลายชิ้นเมื่อปี 2011 ที่แนะนำว่า ยาอมซิงค์ (zinc lozenges) อาจช่วยร่นระยะเวลาการเป็นหวัดทั่วไปให้สั้นลงได้ โดยต้องอมยาอมนี้มากกว่าวันละ 75 มก. แต่โดยรวมแล้ว การศึกษาในเรื่องการใช้ซิงค์กับโรคหวัดหลายชิ้นเป็นการศึกษาที่ทำอย่างไม่มีคุณภาพ จึงยังไม่มีหลักฐานที่น่าชื่อถือว่า การรับประทานซิงค์สามารถป้องกันหวัดได้ นอกจากนั้น สถานบันสุขภาพแห่งชาติ (NIH) ยังได้ออกคำเตือนว่า ซิงค์อาจส่งผลต่อการดมกลิ่น (sense of smell) ได้ ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์สเปรย์ หรือเจลใดๆ ที่มีส่วนผสมของซิงค์ เนื่องจากทำก่อความเสียหายเป็นระยะเวลายาวนาน หรือถาวร
11. ประโยชน์ต่อการเรียนรู้ และความจำ: มีผลงานวิจัยบางชิ้นในหนูที่แสดงให้เห็นว่า ซิงค์อาจช่วยกระตุ้นกระบวนการทำงานขั้นสูงของสมอง (cognitive function ได้แก่ ความจำ ภาษา การรับรู้ระยะและทิศทาง) ได้ มีผลการศึกษาชิ้นหนึ่งในปี 2017 ที่ระบุว่า หนูที่ได้รับประทานซิงค์เสริม สามารถทำงานที่ต้องใช้ความคิดและความจำได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปรากฎหลักฐานเพียงพอที่จะชี้ชัดได้ว่า ซิงค์ช่วยให้ความจำและการเรียนรู้ดีขึ้นในมนุษย์
ซิงค์ และโรค COVID-19
เคยมีนักวิจัยบางท่านที่แนะนำว่า การรักษาระดับของซิงค์ภายในร่างกายให้เพียงพออยู่เสมอ อาจช่วยป้องกันโรค COVID-19 ได้ และมีบทวิเคราะห์ชิ้นหนึ่งในปี 2020 ที่ระบุว่า ซิงค์ช่วยกระตุ้นระบบภูมิต้านทาน และบำรุงเยื่อบุต่างๆ ได้ คนที่ขาดซิงค์จะมีความเสี่ยงสูงกว่าต่อการติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโรคปอดอักเสบด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ ต้องระลึกไว้เสมอว่า แม้ซิงค์อาจช่วยเสริมสร้างสุขภาพโดยรวม และต่อต้านเชื้อโรคได้ แต่ในปัจจุบันก็ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่า ซิงค์ช่วยป้องกัน หรือใช้รักษาโรค COVID-19 ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ซิงค์บางอย่างอาจทำให้เกิดการสูญเสียการดมกลิ่นได้
ปริมาณที่แนะนำ
เด็กๆ ควรได้รับซิงค์ในปริมาณที่เพียงพอ และนั่นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เนื่องจากซิงค์มีบทบาทต่อพัฒนาการในวัยเด็ก ต่อไปนี้ คือ ปริมาณซิงค์ที่แนะนำให้รับประทาน โดยแยกตามอายุ และเพศ
• อายุ 0-6 เดือน ปริมาณ 2 มก. ทั้งเพศชาย และ เพศหญิง
• อายุ 7-12 เดือน ปริมาณ 3 มก. ทั้งเพศชาย และ เพศหญิง
• อายุ 1-3 ปี ปริมาณ 3 มก. ทั้งเพศชาย และ เพศหญิง
• อายุ 4-8 ปี ปริมาณ 5 มก. ทั้งเพศชาย และ เพศหญิง
• อายุ 9-13 ปี ปริมาณ 8 มก. ทั้งเพศชาย และ เพศหญิง
• อายุ 14-18 ปี ปริมาณ 11 มก. สำหรับเพศชาย และ 9 มก. สำหรับเพศหญิง
• อายุ 19 ปี ขึ้นไป ปริมาณ 11 มก. สำหรับเพศชาย และ 8 มก. สำหรับเพศหญิง
หากอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ หรือระยะให้นมบุตร ควรรับประทานซิงค์ในปริมาณที่สูงขึ้น เนื่องจากทารกในวัยแรกเกิดจนถึงอายุ 6 เดือน จำเป็นต้องได้รับซิงค์จากน้ำนมมารดา
บทสรุป
ซิงค์มีความสำคัญต่อสุขภาพและมีบทบาทสำคัญต่อพัฒนาการในวัยเด็ก ระบบภูมิต้านทาน การสมานแผล และการทำหน้าที่อื่นๆ ภายในร่างกาย ช่องทางที่จะทำให้ได้รับซิงค์ได้ดีที่สุด คือ จากการรับประทานอาหาร เช่น ถั่ว อาหารทะเล และอาหารที่มีการเสริมอาหาร เช่น วิตามิน และแร่ธรตุ ในกรณีที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับซิงค์ไม่เพียงพอ แพทย์อาจออกใบสั่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์ให้คุณรับประทาน ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระยะให้นมบุตร หรือเป็นผู้ที่รับประทานมังสวิรัติ อาจต้องรับประทานซิงค์เสริม อย่างไรก็ตาม ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารซิงค์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
เรียบเรียงจาก: www.medicalnewstoday.com/articles/263176